พระสถูปเจดีย์พุทธคยา
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
พระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา(จำลอง)
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
ต.ธารทอง อ.พาน จ.เชียงราย
|
|
แบบพระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา(จำลอง) |
|
มูลเหตุแห่งการสร้างเจดีย์พุทธคยา
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ แห่งนี้ เป็นสถานที่ หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ท่านมุ่งพัฒนาเพื่อให้เป็นสถานที่รองรับ มุ่งเน้นในการปฏิบัติธรรม ให้เป็นสถานที่สำหรับฝึกเจริญสติ สมาธิ ปัญญา ไหว้พระ สวดมนต์ อันจะนำประโยชน์สุขมาสู่พระภิกษุสงฆ์และสาธุชนที่มุ่งหวังหนทางแห่งความพ้นทุกข์ การดำริสร้างพระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา(จำลอง) อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงค้นพบหนทางเพื่อยืนยันว่า การปฏิบัติให้ถึงทางพ้นทุกข์นั้นมีอยู่จริง พระพุทธองค์ทรงกระทำไว้เป็นหลักฐานยืนยันพิสูจน์ได้ดีแล้ว และเพื่อให้เกิดเป็นประโยชน์ต่อพระภิกษุสงฆ์และสาธุชน ทั้งยังช่วยจรรโลงสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป
เมื่อวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ได้รับการเผยแผ่เป็นที่รู้จักในด้านการปฏิบัติธรรม โดยมีพระภิกษุสงฆ์และสาธุชนได้เข้าร่วมปฏิบัติธรรมตลอดทั้งปี และงานปฏิบ้ติธรรมซึ่งปกติจะจัดขึ้นบนลานธรรมที่อยู่บนเขา แต่เมื่อมีผู้เข้าร่วมปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก ก็ทำให้เกิดปัญหาพื้นที่รองรับไม่เพียงพอ การจะขยายพื้นที่บริเวณนั้นก็ยากลำบากด้วยสภาพแวดล้อมเป็นภูเขาหิน การขึ้นลงก็ลำบากสำหรับผู้สูงอายุ เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงทำให้หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ท่านมีดำริที่จะต้องหาพื้นที่เพื่อขยับขยายการรองรับการปฏิบัติธรรมในแต่ละครั้ง เป็นการทดแทนพื้นที่เดิมด้านบนภูเขาที่คับแคบลง ทั้งนี้ด้วยพื้นที่ภายในวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญโดยส่วนมากเป็นภูเขาหินที่โอบล้อมด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ หากแต่พื้นที่ราบกลับมีไม่เพียงพอที่จะขยายให้เป็นที่รองรับผู้ปฏิบัติธรรม ด้วยเหตุนี้ หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ท่านจึงดำริที่จะพัฒนาพื้นที่ด้านทิศตะวันตกให้เป็นที่รองรับผู้ปฏิบัติธรรมได้
ครั้นเมื่อ หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ท่านมีความมุ่งมั่นในดำริของท่าน ในขณะนั้นท่านจึงได้สำรวจพื้นที่ภายในบริเวณวัดด้วยตัวท่านเอง ซึ่งท่านเห็นว่ายังมีพื้นที่ว่างที่เงียบสงบอยู่บริเวณฝั่งทิศตะวันตก เหมาะแก่การปรับขยายทำให้เป็นที่ปฏิบัติธรรมแก่พระภิกษุสงฆ์และสาธุชน ซึ่งท่านดำริว่าหากจะทำที่ปฏิบัติธรรม และจำเป็นต้องมีศาลาอาคารเพื่อเป็นที่หลบแดด ลม ฝน ตามสภาพอากาศที่แปรปรวนไปในปัจจุบัน ท่านก็พิจารณาว่าควรจะสร้างเป็นพระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา(จำลอง) อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ในที่ปฏิบัติธรรม ซึ่งหากเป็นไปได้ก็จะพัฒนาสร้างเป็น ๔ สังเวชนียสถาน(จำลอง)อันเป็นสัญลักษณ์ของการชีวิตการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เพิ่มเติมขึ้นไป เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์และสาธุชนที่ไม่มีโอกาสได้ไปเยือนหรือเห็นสังเวชนียสถานที่อินเดียได้เห็นสิ่งที่จำลองขึ้นมา
ท่านได้เล่าปรารภสอดแทรกเรื่องนี้แด่หมู่สงฆ์ที่เข้าปฏิบัติธรรมใหญ่ในวัดขณะแสดงปาฐกถาธรรมเรื่อง อริยสัจ ๔ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ เมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย การตรัสรู้อริยสัจ ๔ ครั้งนั้น ได้ทำให้พระพุทธองค์ทรงค้นพบหนทางแห่งการดับทุกข์สิ้นเชิง สำเร็จเป็นพระพุทธะ รู้แจ้งในธรรม และในชีวิตนี้ที่หลวงพ่อเป็นพระ หากท่านสามารถจะทำประโยชน์หรือสร้างศาสนสถานให้อยู่คู่กับวัดแล้วไซร้ ท่านดำริที่จะสร้างพระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา(จำลอง) อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้อริยสัจ ๔ ฝากไว้ในสถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้เพื่อเป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาและพระภิกษุสงฆ์พร้อมมหาชน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เดิมทีนั้นท่านกำหนดสร้างในบริเวณพื้นที่ว่างที่เป็นดงไผ่ด้านหน้าทางขึ้นสถูปเจดีย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ราบ ท่านให้คณะกรรมการวัดยื่นเอกสารขออนุญาตต่อสำนักที่ดินราชพัสดุกรมธนารักษ์ เมื่อสำนักที่ดินราชพัสดุรับทราบแล้ว จึงมีหนังสือตอบกลับมาว่า กรมธนารักษ์ขอถวายที่ดินราชพัสดุในพื้นที่ถัดไปนั้นให้วัดเพิ่มเติมอีกหลายไร่ จึงทำให้ได้พื้นที่เพิ่มมากขึ้น
เมื่อการกำหนดพื้นที่เป็นที่แน่นอนแล้ว
จึงได้ริเริ่มที่จะจัดสร้างพระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา(จำลอง) ขึ้นอย่างจริงจัง ท่านจึงได้ปรึกษาคณะทำงานและเมตตามอบหมายให้ คุณจมร ปรปักษ์ประลัย สถาปนิกชำนาญการ กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบพระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา(จำลอง) ถวาย โดยหลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ได้เมตตานำคณะทำงานเดินทางสู่ประเทศอินเดีย เพื่อเข้าสักการะเยี่ยมชมพระมหาเจดีย์พุทธคยา(ต้นแบบ) ณ รัฐพิหาร เมืองคยา ประเทศอินเดีย และเก็บรายละเอียดต่างๆ เพื่อนำมาเป็นแบบในการก่อสร้างพระสถูปเจดีย์พุทธคยา (จำลอง)ให้เสมือนจริงมากที่สุด เมื่อท่านสถาปนิกได้ออกแบบเสร็จสิ้นแล้วนั้น รูปแบบพระสถูปเจดีย์พุทธคยา (จำลอง)กำหนดความสูงเท่ากับพระมหาสถูปเจดีย์ต้นแบบในประเทศอินเดีย
ในขณะที่ หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ท่านได้เริ่มดำเนินการจัดเตรียมพื่นที่ก่อสร้าง แต่ก็ต้องหยุดชงักไปชั่วคราว
เพราะในเวลานั้นกลับเกิดเหตุการณ์อุทกภัยแผ่นดินไหวขึ้นโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย
ซึ่งในเรื่องนี้ทางทีมวิศวกรและสถาปนิกก็ได้กราบเรียนว่า แบบพระสถูปเจดีย์พุทธคยา(จำลอง)ที่ได้ออกแบบไปแล้วนั้น ไม่สามารถจะนำมาก่อสร้างได้ เพราะเนื่องด้วยเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น จึงมีกฏหมายควบคุมอาคารและความสูงของอาคารฉบับใหม่ที่กำหนดควบคุมเขตแผ่นดินไหวใน ๖ จังหวัดภาคเหนือตอนบน ซึ่งมีพื้นที่จังหวัดเชียงรายรวมอยู่ด้วย การดำเนินการต่างๆ จึงต้องหยุดพักลงชั่วคราวเพราะท่านสถาปนิกจำเป็นต้องปรับแบบและความสูงพระสถูปเจดีย์ใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นไปตามกฏหมายกำหนด
เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดเป็นผลกระทบในขณะนั้นคงสร้างความวิตกกังวลให้หลวงพ่อท่านไม่น้อย จึงไม่มีท่านใดในวัดทราบเลยว่าในเวลาเที่ยงคืนดึกสงัดคืนหนึ่ง ตัวหลวงพ่อท่านได้หอบเสื่อและอาสนะไปนั่งสมาธิเจริญจิตภาวนาองค์เดียว โดยไม่ได้แจ้งให้พระภิกษุหรือศิษยานุศิษย์ในวัดได้ทราบ โดยท่านไปเจริญจิตภาวนาในบริเวณพื้นที่ที่ท่านไปสำรวจเพื่ออธิษฐานขอนิมิตหมายว่า การจะจัดสร้างที่ปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้นในบริเวณนี้จะดีหรือไม่และเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด หากสิ่งใดจะเป็นอุปสรรคปัญหาประการใดแล้ว ก็ขออานุภาพแห่งคุณพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายได้เมตตาแสดงนิมิตหมายให้ท่านได้ประจักษ์แก่ตนด้วยเถิด
ยามเช้าตรู่ในอีกไม่กี่วันต่อมา เวลาประมาณตี ๒ ที่หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ท่านได้ตื่นนอนขึ้นมาก่อนเวลาทำวัตรเช้าหลายชั่วโมง ท่านปรารภว่าจะพักผ่อนต่ออีกหน่อยแต่ร่างกายก็ไม่อยากจะพักแล้ว ท่านจึงได้ทำภารกิจส่วนตนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนั้นก็ใช้เวลาอันสงัดเงียบนั้นนั่งเจริญจิตภาวนา กระทั่งเวลาก่อนรุ่งสางเมื่อคลายจากการเจริญจิตภาวนาแล้ว ท่านก็ได้เห็นลูกไฟสุกสว่างเหมือนดาวตกลงมาจากฟ้า แล้วพุ่งลงตรงบริเวณพื้นที่ซึ่งอยู่ถัดไปด้านบนจากที่ท่านกำหนดไว้เป็นที่อัศจรรย์ใจแก่ท่าน
ในยามสายของวันนั้น เมื่อหลวงพ่อและพระภิกษุสงฆ์ทำภารกิจหลังฉันภัตตาหารเช้าเสร็จแล้ว หลวงพ่อท่านจึงได้แจ้งให้พระภิกษุสงฆ์และลูกศิษย์วัดให้ทราบว่า ยามสายของวันนี้หลวงพ่อจะไปดูพื้นที่บริเวณที่จะจัดสร้างพระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา ให้ทุกท่านไปกับหลวงพ่อและให้จัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ในการวัดพื้นที่พร้อมอุปกรณ์การจดบันทึกไปด้วย ท่านจะให้จัดการวัดพื้นที่ว่าจะกว้าง ยาว อย่างไร เท่าไร
เมื่อไปถึงบริเวณพื้นที่ราบเดิมที่เคยกำหนดไว้ หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ท่านก็แจ้งแก่ทุกท่านว่าให้ตามหลวงพ่อขึ้นไปพื้นที่ซึ่งอยู่ด้านบนถัดไปที่กรมธนารักษ์ถวายที่ราชพัสดุเพิ่มเติมไว้นั้น ก็มีพระภิกษุสงฆ์และทีมงานได้กราบเรียนว่าเดิมทีหลวงพ่อกำหนดจะทำตรงที่โล่งนั้น เหตุใดหลวงพ่อท่านจึงจะย้ายไปทำด้านบน
ท่านจึงได้เมตตาบอกกล่าวถึงนิมิตหมายที่ท่านเห็นแสงสว่างจ้าที่ตกลงมาตรงจุดที่ท่านกำหนดให้เป็นที่ตั้งพระสถูปเจดีย์ เมื่อทำการวัดพื้นที่ทั้งหมดแล้วนั้นก็ปรากฏว่าได้พื้นที่พอเหมาะแก่การก่อสร้างศาสนสถานสำคัญไว้ตรงนั้น จากนั้นหลวงพ่อท่านจึงได้ว่าจ้างให้รถขุด-ถมดิน ปรับพื้นที่ให้ราบเตียน เมื่อทีมงานวิศวกรและสถาปนิกเดินทางขึ้นไปเพื่อตรวจสอบสถานที่ตั้ง หลวงพ่อท่านจึงได้ชี้จุดศูนย์กลางที่จะก่อสร้างและจุดลงเสาเอกพระสถูปเจดีย์ ซึ่งเมื่อทีมงานทำการวัดขนาดพื้นที่ทั้งหมด ก็เป็นที่อัศจรรย์ใจให้กับทีมงานทุกท่าน เพราะเมื่อคำนวนพื้นที่รอบด้านจากจุดศูนย์กลางที่หลวงพ่อท่านกำหนดแล้วนั้น พื้นที่รอบด้านมีความกว้าง ยาว เท่ากันทุกด้านโดยไม่มีสิ่งใดคลาดเคลื่อนจากกัน พระสถูปเจดีย์จะถูกสร้างขึ้นในจุดศูนย์กลางของพื้่นที่ผืนนั้น เมื่อทีมงานทำการตรวจวัด กำหนดจุดปักหมุดแน่นอนแล้ว ก็เรียนหลวงพ่อท่านว่าขณะที่ต้องรอแบบพระสถูปเจดีย์ที่ต้องออกแบบใหม่อีกหลายเดือนนี้ ก็เป็นการเหมาะเพราะเวลาที่รอนั้นก็จะได้ให้พื้นที่ที่ถมดินนั้นจะได้ยุบตัวให้ดินอัดแน่นลงอีกประมาณ ๖ เดือน
ด้วยศรัทธาสาธุชนและเจ้าภาพหลัก
เมื่อการเตรียมการต่างๆ ได้ถึงกำหนดเวลา หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ท่านจึงได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นขวัญกำลังใจในการดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งการก่อสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่ย่อมเป็นธรรมดาที่จะมีเหตุปัจจัยในหลายๆ ด้าน ทำให้ทีมงานและผู้เกี่ยวข้องต่างห่วงใย แต่หลวงพ่อท่านก็ให้กำลังใจกับทุกฝ่ายว่าทำให้ดีที่สุด ไม่ต้องกังวลสิ่งใด หลวงพ่อท่านให้เชื่อมั่นว่าทุกสิ่งจะสำเร็จลงด้วยดี ท่านเปรยให้ได้ยินเพียงว่า เทวดาท่านไม่ละทิ้งให้พระลำบากหรอก ทีมงานทุกท่านจึงไม่เข้าใจในคำปลอบใจของท่าน
ในเวลานั้นทั่วโลกได้เกิดโรคระบาดเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สถานการณ์ทั่วโลกจำต้องหยุดชงักลง การจะจัดทำกิจกรรมต่างๆ ของทางวัดก็จึงต้องหยุดลงด้วยเช่นกัน แต่ในขณะนั้นญาติธรรมหลายท่านก็ถือเอาโอกาสของการระบาดเกี่ยวกับโรคโควิด-19 นั้นได้หยุดพักงาน โดยญาติธรรมหนึ่งในนั้นก็คืออุบาสก คุณอุดม แต้พาณิชย์ ได้ขอเข้ารับการบรรพชา-อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ โดยมีหลวงพ่อถวิล จนฺทสโร เป็นพระอุปัชฌาย์
เมื่อ พระอุดม อธิจิตโต ท่านได้ปฏิบัติบำเพ็ญการงานในกิจของสงฆ์เป็นเวลาร่วม ๘ เดือนนั้น ท่านก็ได้รับทราบว่าหลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ท่านดำริริเริ่มในการก่อสร้างพระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา(จำลอง) ท่านจึงมีจิตศรัทธากราบเรียนถามหลวงพ่อว่าพระพุทธเมตตา พระประธานในพระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา (จำลอง) องค์นี้ มีท่านใดเป็นเจ้าภาพในการจัดสร้างแล้วหรือยัง เมื่อหลวงพ่อท่านแจ้งว่ายังไม่ได้มีท่านใดรับเป็นเจ้าภาพ เมื่อได้รับคำตอบเช่นนั้น พระอุดม อธิจิตโต ท่านจึงมีจิตศรัทธาประสงค์จะรับเป็นเจ้าภาพสร้างพระพุทธเมตตาเพื่อถวายเป็นพระประธาน อัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ในองค์พระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา(จำลอง) วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ทั้งนี้เมื่อท่านยังดำรงตนอยู่ในเพศสมณะนั้น ท่านก็เกิดศรัทธาในการที่จะจัดสร้างลานปฏิบัติธรรมไว้ใต้ร่มไม้ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติธรรมได้มีสถานที่ปฏิบัติธรรมที่ร่มรื่น สงบเย็นภายในสถานที่แห่งนี้ เมื่อการจัดสร้างลานปฏิบัติธรรมนั้นแล้วเสร็จ จึงได้เรียกขานลานปฏิบัติธรรมนั้นว่า "ลานหินโค้ง" และยังได้มีจิตศรัทธาสร้างน้ำตกที่อยู่ในบริเวณหน้าถ้ำพระเพื่อให้รองรับกับธรรมชาติให้เกิดความชุ่มชื่นร่มเย็น
ครั้นเมื่อ พระอุดม อธิจิตโต ได้สร้างลานหินโค้งเสร็จสิ้นแล้วนั้น ท่านก็มีดำริความประสงค์ที่จะถวายลานหินโค้งนั้นตามธรรมเนียมปฏิบัติเพื่อให้สถานที่แห่งนั้นถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ถวายแด่หมู่สงฆ์โดยถูกต้องตามพระวินัย ให้สถานที่นั้นเป็นของวัด อยู่ในความดูแลของพระภิกษุสงฆ์
ในเวลาที่จัดถวายนั้น ได้มีญาติธรรมและมิตรสหายของพระอุดม อธิจิตโต ได้ไปร่วมงานบุญอนุโมทนากับการถวายในครานั้นด้วย หนึ่งในท่านผู้ใหญ่ที่รับเชิญไปร่วมงานบุญครั้งนั้น คือ คุณอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา
เมื่อการน้อมถวายลานหินโค้งเสร็จสิ้นลงนั้น ท่านก็ได้เมตตากราบเรียนถามหลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ว่า พระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา(จำลอง) ที่หลวงพ่อท่านกำลังดำเนินการก่อสร้างนั้นมีท่านใดเป็นผู้จัดสร้างหรือไม่ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณเท่าไร? เมื่อหลวงพ่อท่านได้ให้รายละเอียดตามที่วิศวกรและสถาปนิกได้ให้รายละเอียดของโครงการไว้ คุณอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ท่านจึงมีศรัทธา ขอรับเป็นประธานในการเป็นเจ้าภาพดำเนินการสร้างพระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยานั้นถวายให้จนกว่าจะแล้วเสร็จ
คุณอดิศักดิ์ สุขุวิทยา และครอบครัว พร้อมทีมงาน บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (Jaymart Group) จึงได้รับเป็นเจ้าภาพในการสร้างพระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา(จำลอง)ถวายให้กับวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญนับแต่นั้น เมื่อท่านได้รับเป็นเจ้าภาพแล้วนั้น ท่านจึงได้เมตตากราบนิมนต์หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร พร้อมนำคณะและทีมงานผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเดินทางไปศึกษาดูงานต้นแบบยังพระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย เพื่อให้ทุกท่านได้เห็นของจริงเพื่อความเข้าใจในการจัดทำ จัดสร้าง
ในขณะปัจจุบัน พระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา(จำลอง) วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ได้รับการดูแลก่อสร้างจนแล้วเสร็จในส่วนขององค์พระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา
ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย งดงาม และพร้อมจะทำการถวายให้พระภิกษุสงฆ์และสาธุชนได้เข้าไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติธรรม ในส่วนที่ยังคงปรับตกแต่งเพิ่มเติมก็ยังคงดำเนินการต่อไป ซึ่งเป็นส่วนประกอบภายนอก เช่น กำแพงรอบ ซุ้มประตู และส่วนประกอบอื่นที่จะทำให้พระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยาเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมด
สำหรับสาธุชน-อุบาสก-อุบาสิกา ที่ประสงค์จะร่วมบุญในการก่อสร้างส่วนประกอบอื่น ขอร่วมบุญ ร่วมเป็นเจ้าภาพก่อสร้าง ติดต่อขอรายละเอียดได้ที่ :
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
โทร.053 184 325 หรือ
ร่วมสร้างบุญในนามชื่อบัญชี :
กองทุนสร้างสถูปเจดีย์พุทธคยา
ธนาคาร: กรุงไทย,
สาขา: พาน
เลขที่ : 522-0-67524-9
|
|
เชิญร่วมสร้างสถูปเจดีย์พุทธคยา |
|
อานิสงส์แห่งการสร้างศาสนสถาน
พระพุทธเจ้าเป็นรัตนะที่เกษมสูงสุด "พุทธะปูชา มะหาเตชะวันโต" แปลว่า "การบูชาพระพุทธเจ้ามีเดชอำนาจมาก"
"สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสรรเสริญและแสดงธรรมเกี่ยวกับเรื่องการสร้างวัดหรือส่วนประกอบ
ของวัด เช่น ที่ดิน หรือศาสนวัตถุต่างๆ โบสถ์ วิหาร ศาลา พระพุทธรูป
กุฏิสงฆ์ เสนาสนะถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ผู้ประพฤติดี
ปฏิบัติชอบ ไว้ดังนี้
- ทานํ สคฺคสฺส โสปนํ ทานกุศลจัดว่าเป็นบันได้ขั้นแรกที่จะนำขึ้นสู่สวรรค์
- ทานํ ปาเถยฺยมุตตมํ ทานกุศลจัดว่าเป็นเสบียงอันประเสริฐ
- ทานํ อุชุคตํ มคฺคํ ทานกุศลจัดว่าเป็นทางสายตรงไปสู่พระนิพพาน
- ทานํ โมกฺขปทํ วรํ ทานกุศลจัดว่าเป็นบาทให้ถึงซึ่งความหลุดพ้น
การสร้างวัด สร้างโบสถ์ ศาลา พระพุทธรูป อาคารที่พัก
เพื่อถวายไว้กับวัดในพระพุทธศาสนาโดยพระสงฆ์องค์เจ้าก็ดี หรืออุบาสกอุบาสิกาต่อพุทธศาสนาก็ดี จัดเป็นทานอันเลิศ
ตามที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ในพระไตรปิฎก
เมื่อเริ่มดำริสร้างพระมหาสภูปเจดีย์พุทธคยา |
|
|
|
คณะท่านเจ้าภาพ ประธานการจัดสร้างและดูแลการจัดสร้างพระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา
โดย คุณอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา และครอบครัว พร้อมทั้งทีมงาน เจมาร์ท กรุ๊ป ทุกท่าน
เพื่อถวายไว้ในวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
ประโยชน์
ประโยชน์ตน..ประโยชน์ศาสนา ยุคสมัยได้เปลี่ยนแปลงไปมากมาย
หากจะนำเอาสมัยพุทธกาลมาเปรียบเทียบก็คงจะห่างกันไกล เพราะครั้งพุทธกาลเป็นต้นยุคของพระพุทธศาสนา สาธุชนจึงปฏิบัติง่าย เข้าใจง่าย ปัจจัยภายนอกจึงอาจมิใช่สิ่งจำเป็น
กระนั้นก็ตามพระพุทธองค์ก็มิทรงตำหนิติเตียนการสร้างศาสนวัตถุไว้คู่กับพระพุทธศาสนา แต่ตรงกันข้าม พระพุทธองค์กลับทรงสรรเสริญ อนุโมทนาในจิตอันเป็นกุศล ในบุญ ดั่งเช่นการถวายที่ดินอุทยานสวนกวาง ของพระเจ้าพิมพิสารเพื่อสร้างวัดเวฬุวันมหาวิหาร ให้เป็นพระอารามหรือวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา การสร้างวัดบุพผารามเป็นโลหะปราสาทที่สวยงามแห่งแรกที่มีห้องตั้ง ๕๐๐ ห้อง ของนางวิสาขามหาอุบาสิกา เพื่อถวายแด่พระพุทธองค์และหมู่สงฆ์สาวกให้เป็นที่พำนัก หรือการสร้าง วัดพระเชตวัน ของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ถวายแด่พระพุทธองค์ทรงอยู่จำพรรษาพร้อมหมู่สงฆ์ พระพุทธองค์ทรงจำพรรษาที่พระเชตวันมหาวิหารยาวนานที่สุดในพระชนม์ชีพ จนกลายมาเป็นพุทธสถานสำคัญ ที่ชนชาวพุทธทั่วโลกในปัจจุบันเดินทางไปเคารพกราบไหว้ที่อินเดีย ครั้งพุทธกาลนั้น ผู้ที่จะสร้างศาสนวัตถุถวายได้ก็คงจะมีแต่ผู้เป็นเศรษฐีผู้มีศรัทธาและมีกำลังทรัพย์เท่านั้น เพราะผู้คนในแผ่นดินอินเดียส่วนมากล้วนยากจน
แต่ในปัจจุบันระยะเวลาห่างจากพุทธกาลเกิน ๒๖๐๐ กว่าปี วัสดุและการก่อสร้างต่างๆ มีวิวัฒนาการ พัฒนาให้ง่ายต่อการก่อสร้าง แต่สิ่งที่ยากคือปฏิปทาของสาธุชนต่างหาก ที่ยากจะเข้าใจในพระธรรมคำสั่งคำสอนของพระพุทธองค์ การจะให้เข้าใจในหลักปฏิบัติจึงเป็นสิ่งยากยิ่ง มิใช่เรื่องง่ายเหมือนดังเก่าก่อน การจะให้นักบวชหรือสาธุชนเข้าป่าฝึกความอดทน ลำบากตรากตรำต่อการปฏิบัติยิ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากในปัจจุบัน เว้นไว้แต่ผู้มีความมุ่งมั่น ตั้งใจมั่นเท่านั้น แต่จะมีสักกี่คนที่จะทำเช่นนั้นได้ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่จะต่อยอดเบื้องต้นก็คือศาสนสถาน ให้วัดได้มีสถานที่รองรับสาธุชนได้ไหว้พระ สวดมนต์ ฝึกสมาธิเล็กๆ น้อยๆ ค่อยๆ ซึมซับ สั่งสมไปตามเหตุตามปัจจัย
หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ประธานสงฆ์วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ท่านจึงมีดำริ มีความตั้งใจที่จะสร้างศาสนวัตถุ คือ พระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา (จำลอง) ขึ้นไว้ ณ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ อ.พาน จ. เชียงราย แห่งนี้ และเหตุใดจึงเป็นพระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา ทั้งนี้ก็เพราะพุทธคยาเป็นสถานที่ ๑ ใน ๔ สังเวชนียสถานแห่งการตรัสรู้ในอริยสัจ ๔ อันเป็นธรรมแห่งการตรัสรู้ ขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้บังเกิดขึ้นใต้ต้นพระศรีมหาโพธิพุทธคยาแห่งนั้น
...พุทธคยา..คือสถานที่ตรัสรู้..ครั้งที่พระโพธิสัตว์สิทธัตถะทรงบำเพ็ญเพียร สั่งสมอบรมบารมีมายาวนานกระทั่งพระบารมีเต็มล้น จึงทรงเลือกสถานที่สำหรับบำเพ็ญเพียรครั้งสุดท้ายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา สถานที่อันเป็นมงคลนั้นในปัจจุบันคือ พุทธคยา
...พุทธคยา..จึงเป็นสถานที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญเพียร เป็นสถานที่พระโพธิสัตว์ทรงบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้อริยสัจ ๔ คือทางพ้นทุกข์ สำเร็จเป็นพระพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถือเป็นก้าวแรกแห่งการค้นพบพระสัทธรรม ก่อเกิดเป็นพระพุทธศาสนาที่ยั่งยืนสืบมาตราบกระทั่งปัจจุบัน
...พุทธคยา..จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ เป็นสถานที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้อริยสัจ ๔ ทรงค้นพบหนทางอันประเสริฐแห่งการพ้นทุกข์, อริยสัจ ๔ ที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบคือทุกข์, สมุทัย, นิโรธ, มรรค หรือ ทุกข์, เหตุแห่งทุกข์, ทางแห่งการดับทุกข์, แนวปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์, พุทธคยาจึงเป็น ๑ ใน ๔ สังเวชนียสถานสำคัญในพระพุทธศาสนา และเป็นศาสนสถานอันเป็นสัญลักษณ์ หรือเป็นองค์ประกอบ ๑ ใน ๖ ประการของศาสนา
...พุทธคยา(จำลอง)..สัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้กำลังถูกจัดสร้างขึ้นโดยหลวงพ่อถวิล จันทสโร ณ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ อ.พาน จ.เชียงราย โดยหลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ได้มุ่งเน้นให้วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม-เผยแผ่ธรรม ปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่ความพ้นทุกข์หรืออริยสัจ ๔ จะมีการจัดสร้างพระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา(จำลอง) ประดิษฐานไว้เพื่อให้สาธุชนที่เดินทางเข้าไปปฏิบัติธรรมแห่งนี้ ปฏิบัติตนเพื่อสั่งสมแนวทางแห่งการพ้นทุกข์ในที่สุด
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ แห่งนี้ เป็นสถานที่ หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ท่านมุ่งเน้น นำในการปฏิบัติธรรม อันจะนำประโยชน์สุขมาสู่พระภิกษุสงฆ์และสาธุชน ที่มุ่งหวังหนทางแห่งความพ้นทุกข์ การดำริสร้างพระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา(จำลอง) อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ของ องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เพื่อให้เกิดเป็นประโยชน์ต่อสาธุชน ได้ใช้เป็นที่ไหว้พระ สวดมนต์ ฝึกทำสมาธิ จึงถูกดำริให้สร้างขึ้นที่นี่ด้วย
จึงขอเชิญชวนสาธุชนท่านผู้มีจิตศรัทธา มาร่วมกันสร้างศาสนสถานอันเป็นบุญ ให้เกิดประโยชน์ในพระพุทธศาสนาโดยตรงด้วยกัน ท่านที่ประสงค์จะร่วมทำบุญ ติดต่อขอรายละเอียดได้ที่ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ อ.พาน จ.เชียงราย โทร.053 184 325
เหตุให้ทำบุญ
ครั้งหนึ่ง เมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี ได้มีกษัตริย์ลิจฉวีทรงพระนามว่า มหาลี
ได้เข้าเฝ้ากราบทูลถามสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า..
..."ข้าแแต่พระองค์ผู้เจริญ..มีสิ่งใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการกระทำบุญ แห่งความเป็นไปเพื่อการกระทำบุญ
พระเจ้าข้า"
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า...
..."ดูก่อนมหาลี..อโลภะ อโทสะ อโมหะ โยนิโสมนสิการ จิตที่ตั้งไว้ชอบ ทั้ง ๔ อย่างนี้ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทำกุศลกรรม
- บุคคลให้ทานได้ก็เพราะ..อโลภะ
- บุคคลให้ทานได้ก็เพราะ..อโทสะ
- บุคคลให้ทานได้ก็เพราะ..อโมหะ
- บุคคลจะสำเร็จ มรรค ผล นิพพานได้ ก็เพราะโยนิโสมนสิการ
การกระทำความดีต่างๆ ได้ ก็เพราะจิตที่ตั้งไว้ชอบ การที่จิตตั้งไว้ชอบนั้นคือ ตั้งจิตไว้ในกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ หรือตั้งจิตไว้ในสัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้ง ๔ อย่าง จิตที่ตั้งไว้ชอบนี้สามารถให้สมบัติทั้งปวงได้ เพราะสมบัติใดๆ ที่มารดา-บิดา เป็นต้น ไม่สามารถยกให้ได้ในสมบัตินั้น จิตที่บุคคลตั้งไว้ชอบนี้แหละสามารถยกให้ได้" ดังคำว่า
น ตํ มาตา ปิตา กยิรา
อญเญ วา ปน ญาตกา
สมุมาปณิหิตํ จิตตํ
เสยโย นํ ตโต กเร.
ความว่า.."จิตที่บุคคลตั้งไว้ชอบย่อมทำบุญได้ดีกว่ามารดา-บิดาหรือญาติเหล่าอื่นจะทำได้" ดังนี้ อธิบายว่าเมื่อมารดา-บิดาจะให้ทรัพย์แก่บุตรทั้งหลายก็ให้ได้เพียงในชาตินี้ แต่ไม่สามารถที่จะให้สมบัติจักรพรรดิ หรือทิพยสมบัติ ฌาน สมาบัติ มรรค ผล นิพพาน แก่บุตรนั้น ฉะนั้นจิตที่บุคคตั้งไว้ชอบนี้แหละอาจให้สมบัติทั้งปวงได้
เพราะฉะนั้นจึงควรคำนึงไว้ว่า จิตที่ตั้งไว้ชอบ คือตั้งไว้ในสัทธา
ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา หรือในกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ
ชื่อว่าเป็นจิตอันประเสริฐ เป็นปัจจัยอันวิเศษในการทำกัลยาณกรรม
คือ ความดีต่างๆ จึงควรที่ทุกคนพึงตั้งจิตไว้ในกุศลกรรมบถทั้งหลาย
การทำ การพูด การคิดก็เป็นสุจริตเสมอ ผลที่ได้ด้วยสุจริตก็เป็นผลที่ดีเสมอ และผลดีนั่นแล คือ "บุญ"ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสพระวาจานี้ประทานแก่ท่านมหาลี แล้วท่านทั้งหลายผู้มีศรัทธา ได้สั่งสมบุญให้เกิดขึ้นแก่ตัวท่านแล้วหรือยัง?
ติดต่อร่วมบุญเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคีได้ที่:
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
โทร.๐๕๓-๑๘๔ ๓๒๕ หรือ
ร่วมสร้างบุญในนามชื่อบัญชี :
กองทุนสร้างสถูปเจดีย์พุทธคยา
ธนาคาร: กรุงไทย, สาขา: พาน
เลขที่ : 522-0-67524-9
การปรับเตรียมพื้นที่
เริ่มงานก่อสร้าง
|